Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS

31 ก.ค. 2567

  ปัจจุบันมีการนำเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial magnetic stimulation : TMS) มาใช้ในการฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมาก เช่น ภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา อาการพูดลำบาก อาการกลืนผิดปกติ เป็นต้น มีความปลอดภัย หากทำควบคู่กับกายภาพบำบัดหรือการรับประทานยา ก็จะช่วยให้ฟื้นฟูผู้ป่วยได้ดีมากยิ่งขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งการรักษาทางเลือกโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือการตกค้างของรังสีภายในร่างกาย มีความปลอดภัย ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด และมีผลข้างเคียงน้อย ใช้การรักษาเพียงประมาณ 20 – 30 นาที ผู้ป่วยสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก หลังจากการรักษาสามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล

TMS คืออะไร ?

   TMS หรือ Transcranial Magnetic Stimulation เป็นเครื่องที่ใช้ในการกระตุ้นสมองและระบบประสาทด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าโดยไม่ต้องผ่าตัด (Non-invasive magnetic stimulation) เป็นการส่งพลังงานจากหัวจ่ายพลังงานผ่านกะโหลกไปที่สมอง ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าในเซลล์สมองและส่งต่อพลังงานไปยังเซลล์สมองที่อยู่ต่อเนื่องกัน กระตุ้นบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวหรือกล้ามเนื้อ เกิดการกระตุ้นหรือยับยั้งเซลล์ประสาทตามรอยโรคนั้นๆทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการทำงานของสมอง ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ

   โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (The US Food and Drug Administration : FDA) อนุญาตให้มีการใช้ TMS ในทางการแพทย์เพื่อใช้ในรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคไมเกรน โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยและนำมาใช้ในการรักษาในหลายๆ กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) การบาดเจ็บของไขสันหลัง (Spinal cord injury) กล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity) ตลอดจนกลุ่มโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น

การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS ช่วยในการทำงานของสมองอย่างไร

   หลักการทำงานของเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Treatment Coil โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าดังกล่าวจะมีลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging : MRI) ซึ่งเป็นการใช้กระแสแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดอ่อนๆ กระตุ้นให้วงจรกระแสประสาทสมองทำงาน เนื่องจากการกระตุ้นด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถกระตุ้นลึกลงไปถึงเนื้อสมอง จึงทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนของสารสื่อประสาท ทำให้สมองสามารถสั่งการลงมาที่กล้ามเนื้อต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เลือดไปเลี้ยงบริเวณสมองได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กยังสามารถกระตุ้นบริเวณอื่นๆได้อีกด้วย เช่น บริเวณไขสันหลัง กล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ ลดการตึงของกล้ามเนื้อ เพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองสั่งการได้ดียิ่งขึ้น
 เมื่อเซลล์สมองได้รับพลังงานจากการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ภายในเซลล์สมองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการไหลของประจุไฟฟ้าชนิดต่างๆ  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ที่บริเวณผิวเซลล์ ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนการทำงานของเซลล์สมอง ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนการหลั่งสารสื่อประสาทบางตัว เช่น catecholamine, dopamine ทำให้เพิ่มหรือลดการทำงานของเซลล์ประสาท รวมถึงช่วยให้เซลล์ประสาทมีการทำงานประสานกันมากขึ้น (Synaptic plasticity)
  • เพิ่มการทำงานของเซลล์ผนังหลอดเลือด ทำให้เพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณที่ได้รับการกระตุ้นมากขึ้น (Increase regional blood flow)
  • เพิ่มการหลั่งปัจจัยบำรุงสมอง (Activity-dependent brain-derived neurotrophic factor - BDNF) ส่งผลให้เกิดการงอกใหม่ของเส้นใยประสาท ผลดังกล่าวอาจเกิดไม่เท่ากันในทุกคนเนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน

กลุ่มโรคไหนบ้างที่เหมาะกับการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS

โรคที่เป็นข้อบ่งชี้ที่ใช้ตัวการรักษาแบบ TMS หรือการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็ก สามารถแบ่งง่ายๆ ได้ดังนี้

  1. กลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ (Stroke) จากการบาดเจ็บในสมอง (Traumatic Brain Injury) หรือจากการบาดเจ็บของไขสันหลัง (Spinal Cord Injury)
  2. กลุ่มโรคกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโรคที่เกี่ยวกับแนวไขสันหลังโดยตรง การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะสามารถรักษากลุ่มปวดที่เกิดขึ้นจากแนวสันหลังได้ผลกว่าการรักษาด้วยเครื่องมืออื่นเนื่องจากว่าการกระตุ้นด้วยแม่เหล็กจะสามารถกระตุ้นลึกลงไปจนถึงรากประสาทได้
  3. กลุ่มปวดต่างๆ เช่น อาการเคล็ดขัดยอก การบาดเจ็บจากการใช้งานกล้ามเนื้อ เอ็น พังผืดหรืออาจเกิดจากการบาดเจ็บของตัวเส้นประสาทโดยตรง อาการปวดตามคอ บ่า ข้อศอก แขน มือ เอว หลัง สะโพก ขา เข่า หรือแม้กระทั่งข้อเท้า ทั้งหมดนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อเอ็นกระดูกไขข้อ
  4. กลุ่มอาการชา คนไข้ในที่มีอาการชา รู้สึกที่ไม่ปกติในส่วนของแขน ขา ปลายประสาทอักเสบ พบได้เยอะมากในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  5. กลุ่มโรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์, โรคพาร์กินสัน
  6. กลุ่มโรคอาการซึมเศร้า

การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS เหมาะกับใคร

การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่างๆ ดังนี้

  • โรคซึมเศร้า
  • โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน
  • การบาดเจ็บของสมองและไขสันหลัง
  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคความจำบกพร่อง หรืออัลไซเมอร์
  • อาการปวดเรื้อรังจากภาวะต่างๆ
  • อาการปวดกล้ามเนื้อ Office syndrome, Fibromyalgia
  • โรคทางระบบประสาท สมอง และกล้ามเนื้ออื่นๆ

ประโยชน์ของการรักษาด้วยการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS

เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS นี้ช่วยในการรักษาได้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น

  • ช่วยลดอาการและความรุนแรงในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Treatment – Resistant Depression) เป็นทางเลือกในการรักษาภาวะซึมเศร้าที่รักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าแล้วไม่ตอบสนองเท่าที่ควร
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder ; OCD)
  • เป็นทางเลือกในการฟื้นฟูการทำงานของสมองในผู้ป่วยที่มีภาวะความจำถดถอยจากโรคอัลไซเมอร์ กระตุ้นความจำในผู้ป่วยความจำเสื่อม
  • การฟื้นฟูหลังจากภาวะโรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลดีขึ้นทั้งเรื่องการเคลื่อนไหว การพูด การกลืน และเพิ่มการเคลื่อนไหวของมือได้ดีขึ้น
  • ช่วยกระตุ้นเด็กที่มีพัฒนาการช้า
  • ช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะชา อ่อนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยลดและป้องกันการปวดศีรษะเรื้อรัง การปวดไมเกรน

ข้อดีของการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS

  • เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย
  • มีผลข้างเคียงน้อยมากหรืออาจไม่มีเลย ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียหรือง่วงนอนภายหลังการกระตุ้น
  • ไม่มีการใช้รังสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และไม่มีการตกค้างของรังสีภายในร่างกาย
  • ช่วยลดปริมาณและผลข้างเคียงจากการกินยา
  • เป็นการรักษาที่ไม่ต้องดมยาสลบ
  • เป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด
  • ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บปวดใดๆ
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกอาการปวดลดลงทันทีหลังการรักษาครั้งแรก
  • พบว่าเมื่อรักษาอย่างต่อเนื่องทำให้ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะดีขึ้นจนถึงหายสนิทรวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ
  • ช่วยปรับการทำงานฟื้นฟูของสมองที่บกพร่องให้คงที่
  • เพิ่มประสิทธิภาพเมื่อควบคู่กับกายภาพบำบัด
  • สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ หลังจากการรักษาสามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
  • สามารถรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อเนื่องติดต่อกันได้
  • ใช้เวลาในการรักษาไม่นาน ประมาณ 20-30นาที

ขั้นตอนการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS

  1. แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะทำการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการอย่างละเอียดก่อนทำการรักษา อาทิเช่น หาตำแหน่งและกำหนดค่าที่ใช้ในการกระตุ้น แนะนำข้อควรระวังในการรักษาแก่ผู้ป่วยและญาติ กำหนดความถี่ แนะนำความถี่ในการรักษาต่อเนื่องแก่ผู้ป่วย รวมถึงคอยติดตามเป็นระยะตลอดขั้นตอนการรักษา
  2. แพทย์จะนำหัวส่งสัญญาณแม่เหล็กมาวางที่ศีรษะ แขนขา หรือตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งขณะทำอาจมีการกระตุกของกล้ามเนื้อได้ แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด และสามารถกลับมาทำเป็นครั้งๆ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

ข้อควรระวังในการรักษาด้วย TMS

  • ไม่ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการชักที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือผู้ป่วยที่เคยมีอาการชักมาก่อน
  • ไม่ใช้ในผู้ที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฝังในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องหูเทียมไฟฟ้าชนิดฝังในตัว สายระบายน้ำในโพรงสมองแบบอัตโนมัติ เป็นต้น
  • ไม่ใช้ในผู้ที่มีโลหะฝังบริเวณศีรษะ เช่น ตะแกรงขยายหลอดเลือดสมอง คลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองในสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีโลหะในบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยตรงสามารถทำได้
  • นอกจากนี้ก่อนเข้ารับการรักษาจะได้รับการประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูในการใช้เครื่อง TMS เพื่อตรวจสอบว่ามีข้อควรระวังอื่นๆ ในการรักษาหรือไม่

   นอกจากการกระตุ้นด้วย TMS แล้ว การรักษาทางกายภาพบำบัดก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสั่งการการทำงานของร่างกายได้อย่างถูกต้อง การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถือเป็นการรักษาแนวใหม่และเป็นทางเลือกต่อโรคทางระบบประสาท มีความปลอดภัยสูง สามารถเข้ารับการรักษาได้หลายครั้ง  และมีผลกระทบจากการรักษาน้อยมาก ทั้งนี้การรักษาจะได้ผลดียิ่งขึ้น หากทำร่วมกับวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ยาเพื่อปรับอาการรวมไปถึงการทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง ส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อผ่านการออกกำลังกาย หรือการฝึกทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกขยับมือ การเดิน ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจดจำรูปแบบการเคลื่อนไหวได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นกายภาพบำบัดเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ ที่จะช่วยให้พัฒนาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้ หากผู้ป่วยได้รับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง ได้รับการรักษาที่ดี จะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด

สำหรับผู้ที่สนใจรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นสมอง TMS

   สามารถปรึกษาการรักษาเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ชั้น 6 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สนับสนุนข้อมูลโดย :  พญ. อรจิรา วงษ์ดนตรี แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.